วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

     พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา (2542 : 78) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติปฏิบัติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ
      เดโช  สวนานนท์.(2514:168)  ได้รวบรวมความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ดังนี้  ปัจจุบันนี้  นักจิตวิทยามาตระหนักกันใหม่ว่า  การเรียนรู้ต่างหากที่เป็นหัวใจของการดำรงชีวิต  ทุกคนเกิดมาจะต้องเรียน...เขาจะต้องเรียนจากสิ่งแวดล้อมโดยตัวเขาเองบ้าง  เขาอาจจะต้องเรียนจากบิดามารดาและญาติพี่น้องบ้าง  และจากโรงเรียนอีกบ้าง  พฤติกรรมเกือบทั้งหมดของมนุษย์  การเดินก็ดี  การรับประทานอาหารก็ดีความรักก็ดี  ความทะเยอทะยานก็ดี  ความกลัวก็ดี  และอื่นๆอีกมากต่อมาก  ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่มนุษย์เสาะหามาโดยการเรียนรู้ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง  ในเมื่อเรายอมรับในความคิดหลักว่า  พฤติกรรมเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่อาจจะเกิดขึ้นได้เอง  โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้ความคิดในเรื่องของการเรียนรู้จึงทวีความสำคัญมากขึ้นๆเป็นลำดับ  
       ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2548 : 29) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้มีความสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคม การเรียนรู้ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือสถานศึกษา แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกสภาพและทุกขณะ ตั้งแต่มนุษย์ลืมตาดูโลก เราก็เริ่มเรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว
      
      สรุป  จากบทความข้างต้น พอสรุปได้ว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจของการดำรงชีวิต ซึ่งการเรียนรู้จะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตนได้อาศัยอยู่ ดังนั้น เราจึงต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ที่มา:  

ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2548).จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.
เดโช สวนานนท์.(2514).จิตวิทยาสำหรับครูและผู้ปกครอง.(พิมพ์ครั้งที่ 4).กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา.(2542).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพ:พัฒนาศึกษา.

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้

    
การเรียนรู้ หมายถึง พัฒนาการรอบด้านของชีวิต มีองค์ปัจจัย และกระบวนการที่หลากหลาย มีพลังขับเคลื่อนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างผสมกลมกลืนได้สัดส่วน สมดุลกัน เกิดความสมบูรณ์ของชีวิตและสังคมการเรียนรู้ มีความหมายครอบคลุมถึงขั้นตอนต่อไปนี้คือ 
        1. การรับรู้ (Reception) หมายถึง การที่ผู้คน รับเอาข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งรวมทั้งแหล่งความรู้จากครูผู้สอนด้วย 
        2. การเข้าใจ (Comprehension) หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถมองเห็นถึงความหมายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรับรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลายในระดับที่สามารถอธิบายเชิงเหตุผลได้ 
        3. การปรับเปลี่ยน (Transformation) เป็นระดับของการเรียนรู้ที่แท้จริง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านวิธีคิด (Conceptualization) การเปลี่ยนแปลงระบบคุณค่า (Values) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior) ในสิ่งที่รับรู้และมีความเข้าใจแล้วเป็นอย่างดี 

      บ้านจอมยุทธ  (http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html)  ได้รวบรวมความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้
  • คิมเบิล ( Kimble , 1964 ) "การเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
  • ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower, 1981) "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์ "
  • คอนบาค ( Cronbach ) "การเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
  • พจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Webster 's Third New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
  • ประดินันท์ อุปรมัย (2540, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 15, หน้า 121) การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
        วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 ได้รวบรวมความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ การเรียนรู้ หมายถึง การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะคุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่าง ๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้(learning curve)

        จากความหมายของการเรียนรู้ที่ได้รวบรวมมาข้างต้นสรุปได้ว่า การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของบุคคลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ ได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะคุณค่าหรือความพึงพอใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ เป็นพัฒนาการรอบด้านของชีวิต มีองค์ปัจจัยและกระบวนการที่หลากหลาย เกิดการรับรู้ การเข้าใจและการปรับเปลี่ยน
           
 ที่มา :
         http://2educationinnovation.wikispaces.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C.ความหมายของการเรียนรู้ .เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2558
    บ้านจอมยุทธ.[Online].http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html.จิตวิทยาการเรียนรู้ หมวดความหมายของการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2558
     https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 .การเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2558