พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา (2542 : 78) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติปฏิบัติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ
เดโช สวนานนท์.(2514:168) ได้รวบรวมความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ ปัจจุบันนี้ นักจิตวิทยามาตระหนักกันใหม่ว่า การเรียนรู้ต่างหากที่เป็นหัวใจของการดำรงชีวิต ทุกคนเกิดมาจะต้องเรียน...เขาจะต้องเรียนจากสิ่งแวดล้อมโดยตัวเขาเองบ้าง เขาอาจจะต้องเรียนจากบิดามารดาและญาติพี่น้องบ้าง และจากโรงเรียนอีกบ้าง พฤติกรรมเกือบทั้งหมดของมนุษย์ การเดินก็ดี การรับประทานอาหารก็ดีความรักก็ดี ความทะเยอทะยานก็ดี ความกลัวก็ดี และอื่นๆอีกมากต่อมาก ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่มนุษย์เสาะหามาโดยการเรียนรู้ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง ในเมื่อเรายอมรับในความคิดหลักว่า พฤติกรรมเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่อาจจะเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องมีการเรียนรู้ความคิดในเรื่องของการเรียนรู้จึงทวีความสำคัญมากขึ้นๆเป็นลำดับ
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2548 : 29) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้มีความสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคม การเรียนรู้ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือสถานศึกษา แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นทุกสภาพและทุกขณะ ตั้งแต่มนุษย์ลืมตาดูโลก เราก็เริ่มเรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว
สรุป จากบทความข้างต้น พอสรุปได้ว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจของการดำรงชีวิต ซึ่งการเรียนรู้จะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตนได้อาศัยอยู่ ดังนั้น เราจึงต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ที่มา:
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2548).จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.
เดโช สวนานนท์.(2514).จิตวิทยาสำหรับครูและผู้ปกครอง.(พิมพ์ครั้งที่ 4).กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา.(2542).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพ:พัฒนาศึกษา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น